เกี่ยวกับโครงการ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสืบสานพระราชปณิธาน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงมีสาย พระเนตรยาวไกล ทรงให้ความสำคัญและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ทรงทำเป็นตัวอย่างด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 2503 ที่เสด็จผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงทอดพระเนตรพื้นที่ที่มียางนาอยู่ และกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป จึงทรงให้อนุรักษ์ต้นยางนาและเพาะเมล็ดยางนา ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่ทรงมีพระชนมายุ 9 พรรษา ทรงร่วมปลูกป่ายางนากับสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยมีข้าราชบริพาร คณาจารย์และนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันปลูกต้นยางนา เป็นสวนป่ายางนา ณ พระราชวังสวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงให้นำพรรณไม้จากภูมิภาคต่าง ๆ มาปลูกไว้ในพระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อ เป็นแหล่งศึกษา และทรงมีโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์และพัฒนาดิน อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เป็นการอนุรักษ์และพัฒนทรัพยากรธรรมชาติ ต่อมาใน พ.ศ. 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบทอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ โดยพระราชทานให้ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ฝ่ายวิชาการเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารพืชพรรณขึ้น ใน พ.ศ. 2536 - 2549 ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับเลขาธิการพระราชวัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 สำนักพระราชวังดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้ และให้ อพ.สธ. ดำเนินการแยกส่วนอย่างชัดเจนจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยที่ อพ.สธ. ดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทเป็นระยะ โดยมีระยะละห้าปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาจนมาถึงแผนที่เจ็ด จึงเรียกว่าแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน พ.ศ. 2569)
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มีพันธกิจที่ประกอบด้วย 7 พันธกิจ ดังนี้ 1) ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม 2) อนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานใต้ 3) สืบสานวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานใต้ 4) พัฒนาและศึกษาค้นคว้าวิจัย องค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ 5) สร้างองค์ความรู้และประยุกต์ศิลปะและวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอีสานใต้ 6) พัฒนาระบบสารสนเทศ แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ และ 7) สร้างเครือข่ายทางศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการต่อยอดและยกระดับมาตรฐานสู่สากล และยังได้เข้าร่วมเป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และได้ดำเนินการจัดทำโครงการและกิจกรรมตามแผนแม่บท อพ.สธ. เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือ โครงการจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกระสัง อำเภอประโคนชัย อำเภอพุทไธสง อำเภอแคนดง อำเภอหนองกี่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติรองรับการพัฒนา ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับให้บริการผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในปีงบประมาณ 2565 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้รับจัดสรร งบประมาณ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ดังนั้น สำนักศิลปะและวัฒนธรรม จึงได้จัดทำโครงการสำรวจ และเก็บรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรม/ประเพณีท้องถิ่นชุมชนของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นการต่อยอดจากโครงการจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยกำหนดพื้นที่ที่ใช้ศึกษาในพื้นที่ 5 อำเภอ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ชุมชนบ้านหนองต้อ อำเภอปะคำ ชุมชนบ้านสายโทใต้ 5 อำเภอบ้านกรวด ชุมชนบ้านบุ อำเภอละหานทราย ชุมชนบ้านบุญช่วย อำเภอพลับพลาชัย และชุมชนบ้านปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง เพื่อสำรวจ ค้นหา รวบรวมข้อมูลวัฒนธรรม/ประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชนที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านต่าง ๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาของชุมชน 2) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ 3) วิถีชีวิตชุมชน 4) ประเพณีและความเชื่อ และ 5) ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยนำมาจัดทำข้อมูลประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ในรูปแบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ และฐานข้อมูลระบบออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตอบสนองต่อความต้องการ ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจในความเป็นทรัพยากรวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ในการนี้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้ร่วมพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นและปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมของคนในจังหวัดบุรีรัมย์ต่อไป
วัตถุประสงค์โครงการ
- เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.)
-
เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ 5 อำเภอ จังหวัดบุรีรัมย์
- ชุมชนบ้านหนองต้อ ตำบลหูทำนบ อำเภอปะคำ
- ชุมชนบ้านสายโทใต้ 5 ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด
- ชุมชนบ้านบุ ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย
- ชุมชนบ้านบุญช่วย ตำบลสะเดา อำเภอพลับพลาชัย
- ชุมชนบ้านปราสาทหนองหงส์ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง
ผลที่จะได้รับ
- ได้ข้อมูลประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์เชิงพื้นที่ในรูปแบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ และฐานข้อมูลระบบออนไลน์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์
- เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านข้อมูลประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์ ในรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ปฏิบัติรวมวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน และนาฏศิลป์พื้นเมือง
กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ที่ได้รับประโยชน์
-
พื้นที่ชุมชน 5 อำเภอ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่
- ชุมชนบ้านหนองต้อ ตำบลหูทำนบ อำเภอปะคำ
- ชุมชนบ้านสายโทใต้ 5 ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด
- ชุมชนบ้านบุ ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย
- ชุมชนบ้านบุญช่วย ตำบลสะเดา อำเภอพลับพลาชัย
- ชุมชนบ้านปราสาทหนองหงส์ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง
- ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
สถานที่จัดกิจกรรมตามโครงการ
- พื้นที่ชุมชน 5 อำเภอ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ อำเภอพลับพลาชัย อำเภอบ้านกรวด อำเภอละหานทราย อำเภอปะคำ และอำเภอโนนดินแดง
- ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
บุคคล/หน่วยงานที่รับผิดชอบ
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์