ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น อำเภอบ้านกรวด

สถานที่แหล่งข้อมูล
ชุมชนบ้านสายโท 5 ใต้ หมู่ 3 ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
ความเป็นมาของชุมชน

   ชุมชนบ้านสายโท 5 ใต้ เป็นหนึ่งชุมชนที่มีพื้นที่บริเวณติดกับถนนสายหลักของอำเภอบ้านกรวด การก่อตั้งหมู่บ้านหรือชุมชนนี้เกิดจากการอพยพเพื่อมาตั้งรกรากอยู่บริเวณปัจจุบัน คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าได้อพยพมาจากการเกิดสภาวะความไม่สงบของชุมชน  เช่นอพยพหนีกลุ่มเขมรแดง มีการสู้รบกันตลอดเวลา ซึ่งมีร่องรอยของการก่อความไม่สงบคือ ชาวบ้าสร้างกำบังหลบภัย (บังเกอร์) ซึ่งในปัจจุบันไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว


สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

   ชุมชนจะมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้หล่อเลี้ยงชุมชนเพื่อการเกษตร และมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี


วิถีชีวิตชุมชน

   ชุมชนบ้านสายโท 5 ใต้ มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนาตลอดทั้งปี มีการทำสวนยาง สวนมันสำปะหลัง ชุมชนในท้องถิ่นสื่อสารกันโดยใช้ภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาไทย ภาษาลาว  ภาษาเขมร ส่วนอาหารประจำท้องถิ่นคือน้ำพริก (จั๊วโดง) แกงกะทิ


ประเพณีและความเชื่อ

    ชุมชนสายโท 5 ใต้ จะมีวัฒนธรรมตามประเพณีและความเชื่อที่เกิดจากการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในชุมชนจะประกอบพิธีกรรมตามประเพณีทางศาสนาที่วัดประจำหมู่บ้านคือ วัดบ้านสายโท 5 -6 ใต้ ซึ่งวัดนี้อยู่ไม่ไกลจากชุมชน ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดอยู่เสมอในทุกโอกาสทั้งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

   นอกจากประเพณีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวบ้านยังมีความเชื่อในเรื่องของพิธีกรรมในอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีภายในชุมชนในหลายพิธีกรรม เช่น การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน มีการร่วมมือร่วมใจจากกลุ่มสตรีในการทำบายศรี มีการจัดดอกไม้สด มีบุญเบิกบ้าน บุญผะเหวด บุญเทศน์มหาชาติ


ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น

   ศิลปะและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นของชุมชน ยังคงปรากฏร่องรอยของความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม คือ มีการบรรเลงดนตรี มีนักดนตรีประจำหมู่บ้านที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน  ประเภท “แคน” ศิลปะท้องถิ่นของชุมชนบ้านมีหลายแขนงแตกต่างกันไป เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน หมอเป่าหรือหมอสมุนไพร หมอนวดแผนโบราณ


    บริเวณพื้นที่สวนยางของชุมชนจะมีรองรอยของโบราณสถานปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นปราสาทหินขนาดเล็กที่ยังไม่ได้มีการบูรณะให้สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่ยังคงมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามและเกิดจากความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในอดีต