ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น อำเภอละหานทราย
ชุมชนบ้านบุ เป็นชุมชนดั้งเดิมในอดีตมีการตั้งรกรากอยู่บริเวณพื้นที่ปัจจุบัน และมีการเคลื่อนย้ายชาวบ้านจากจังหวัดอื่นเข้ามาอยู่ร่วมในชุมชน เช่น จังหวัดสุรินทร์ ร้อนเอ็ด และจากประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา) เป็นต้น การอยู่ร่วมกันอย่างเหนียวแน่น ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ
ชุมชนบ้านบุจะมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะการใช้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และมีการเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ยังมีหนองน้ำโบราณที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำที่มีความสำคัญกับชุมชน ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและมีความเชื่อในสิ่งเร้นลับบริเวณหนองน้ำแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดประจำหมู่บ้าน
ชุมชนบ้านบุ มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนาตลอดทั้งปี มีการทำไร่ ทำสวนผัก และมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ประกอบในกิจกรรมของบ้านเช่น ประกอบการทำนา ประกอบอาหารและการซื้อขาย ชุมชนในท้องถิ่นสื่อสารกันโดยใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลัก คือ ภาษาเขมร ภาษาไทย และภาษาลาวในบางครัวเรือน อาหารประจำท้องถิ่นคือข้าวเจ้า ปลา แกงขี้เหล็ก แกงกล้วย แกงเผือก
ชุมชนบ้านบุ จะมีวัฒนธรรมตามประเพณีและความเชื่อที่เกิดจากการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในชุมชนจะประกอบพิธีกรรมตามประเพณีทางศาสนาที่วัดประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดอยู่เสมอในทุกโอกาสทั้งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่ชาวบ้านยังคงมีการรักษาและสืบทอดเป็นประจำทุกปี คือ ประเพณี “เบ็ญธม” หรือที่เรียกกันว่าเป็นวันสารทใหญ่ ซึ่งประเพณีจะเป็นประเพณีการไหว้บรรพบุรุษประจำบ้าน เพื่อเป็นการปลูกฝังลูกหลนให้เกิดความรักความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ
ศิลปะและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นของชุมชน ยังคงปรากฏร่องรอยของความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม คือ มีการแสดง “เรือมอันเร” การแสดงเรือมอันเรของชุมชนบ้านบุนั้นได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย เมื่อราวพุทธศักราช 2510 ที่ได้เคลื่อนย้ายการตั้งถิ่นฐานของตนมาจากจังหวัดสุรินทร์ และได้นำวัฒนธรรมการเรือมอันเรมาถ่ายทอดในหมู่บ้านด้วย โดยผู้ที่เป็นผู้ถ่ายทอดท่ารำคือ ตายวน บุญทวี สำหรับผู้บรรเลงดนตรี คือ ตาวิเชียร เสาเกลียว และผู้เล่นสากหรือกระทบสากคือ ตาทา เสือประโคน การแสดงเรือมอันเรเป็นการร่ายรำของฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง จะประกอบไปด้วยท่ารำ 2 จังหวะคือ จังหวะช้าและจังหวะเร็ว การรรำจะเริ่มต้นด้วยการรำจังหวะช้าให้ทำนองเพลงจืงมูย ใช้ท่ารำที่เรียกว่ามะล๊ปโดง ต่อจากเพลงทำนองจืงมูยแล้วจะรำทำนองเพลงจืงปรี ใช้ท่ารำจากแม่ท่าของรำวงมาตรฐาน และการรำจะปิดท้ายด้วยการรำทำนองลา เรียกว่า “เลีย” เป็นเพลงที่ใช้บรรยายด้วยบทร้องที่กล่าวถึงการจากลาของการแสดง โอกาสในการแสดงของเรือมอันเรคือการว่างเว้นจากการทำนา ช่วงปีใหม่ไทยหรือช่วงตรุษสงกรานต์ โดยจัดการแสดงที่ศาลากลางหมู่บ้าน เป็นต้น