ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น อำเภอพลับพลาชัย

สถานที่แหล่งข้อมูล
ชุมชนบ้านบุญช่วย หมู่ 13 ตำบลสะเดา อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์
ความเป็นมาของชุมชน

    ชุมชนบ้านบุญช่วย เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งที่มีภูมิประเทศที่สวยงาม บรรยากาศร่มรื่นและยังคงรักษารูปแบบการสร้างอาคารบ้านเรือนจากอดีต ชุมชนบ้านบุญช่วยจะมีการตั้งรกรากที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่แบบดั้งเดิมมาก่อนแล้วและอาศัยอยู่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเข้มแข็งเรื่อยมา ชุมชนแห่งนี้ใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารคือ ภาษาเขมร และภาษากลางเพื่อการสื่อสารกับบุคคลชุมชนอื่น หรือภาษาราชการสำหรับการประสานงานติกต่อหน่วยงานราชการและสถานศึกษา

สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

   ชุมชนบ้านบุญช่วย จะมีบริเวณพื้นที่หรืออาณาเขตที่ติดต่อเชื่อมโยงกัน โดยมีถนนสายหลักที่เป็นทางเชื่อมในหมู่บ้านเพื่อเดินทางไปมาหาสู่กันและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติร่วมกัน ชุมชนจะมีการอยู่ร่วมกันโดยอาศัยวิถีชีวิตผ่านการอาศัยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเช่น ลำธารสายหลักหรือคลองน้ำสายหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงชาวบ้านเพื่อการเกษตร และการดำรงชีวิต


วิถีชีวิตชุมชน

   ชุมชนบ้านบุญช่วย มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีอาชีพรองอื่น ๆ มีการทำนาปี การทำนาปรัง การเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งาน หรือเอาไว้ขาย การปลูกผัก เพื่อใช้ในการประกอบอาหาร และการดำรงชีวิตต่าง ๆ ของชาวบ้าน ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม


  ชุมชนบ้านบุญช่วยนอกจากจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังมีอาชีพรองอื่น ๆ เพื่อการดำรงชีวิตและการสืบทอดทางวัฒนธรรม เช่น การทอผ้า เป็นต้น ชาวบ้านจะนิยมทอผ้าไว้ใช้เอง นอกเหนือจากการใช้ผ้าที่ทอมือเองแล้วก็ยังมีการทอผ้าเพื่อจำหน่ายหรือการทอเพื่อส่งออกไปยังแหล่งอื่นเพื่อส่งเสริมธุรกิจในครัวเรือนอีกด้วย


ประเพณีและความเชื่อ

   ชุมชนบ้านบุญช่วยมีวัฒนธรรมตามประเพณีและความเชื่อที่เกิดจากการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในชุมชนจะประกอบพิธีกรรมตามประเพณีทางศาสนาที่วัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งวัดนี้อยู่ไม่ไกลจากชุมชน ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


   สิ่งที่ชาวบ้านยังคงยึดถือ ยึดมั่นและให้ความเคารพนับถือถือการไหว้ศาล ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของเสาหินโบราณ มีความเชื่อว่าเป็นเสาหินศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านนิยมกราบไหว้บูชาตามความเชื่อความศรัทธาอย่างเหนียวแน่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งใกล้ ๆ บริเวณของศาลจะมีบ่อน้ำที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเคารพนับถืออีกด้วย


   นอกจากประเพณีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวบ้านยังมีความเชื่อในเรื่องของพิธีกรรมที่สร้างขวัญและกำลังใจรวมทั้งเป็นความเชื่อส่วนบุคคลและถือเป็นประเพณีสำคัญของชุมชนที่เมื่อมีงานทุกโอกาสจะต้องประกอบพิธีเรียกขวัญและกำลังใจ ที่เรียกว่า หมอขวัญหรือ “ฮาวปลืง”


ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น

   ศิลปะและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นของชุมชน มีการปรากฏร่องรอยของความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของชุมชน คือการแสดงการฟ้อนรำการแสดง “ตรจ” ซึ่งเป็นการแสดงที่เน้นการร้องการรำตามทำนองและจังหวะของดนตรี เป็นการแสดงที่นิยมแสดงในช่วงสงกรานต์หรือที่เรียกว่าตรุษสงกรานต์ การแสดงดังกล่าวมีการสืบทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย มีการเน้นทักษะการร้องที่เป็นสำเนียงเขมรท้องถิ่น