ข้อมูลชาติพันธ์ุท้องถิ่น ชาติพันธุ์ไทยลาว

ประวัติความเป็นมา

   จากการศึกษาความเป็นมาของไทยลาวในจังหวัดบุรีรัมย์ ดั้งเดิมนั้น มักจะอยู่ทางเหนือแม่น้ำมูลที่ติดกับเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ อำเภอพุทไธสง คูเมือง นาโพธิ์ บ้านใหม่ไชยพจน์ แคนดง หนองกี่ และอำเภอสตึก ชาติพันธุ์ไทยลาวซึ่งเป็นชาวบุรีรัมย์ดั้งเดิมอพยพเนื่องจากสงคราม มาจากนครเวียงจันทน์ ลักษณะการแต่งกาย ชายนิยมแต่งกายแบบผ้าขาก๊วย หรือโสร่ง นิยมนุ่งผ้าหัวกูด (หัวกุด) เสื้อนิยมนุ่งเสื้อม่อฮ่อมเป็นสีคราม มีความนิยมในการทอผ้าใช้เองเป็นงานของหญิง ส่วนผู้ชายจะนิยมทำเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนจากการสานไม้ไผ่ ประเพณีวัฒนธรรมนิยมดำเนินชีวิตตาม ฮีตสิบสอง หรือประเพณี 12 เดือน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อการนับถือผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า ผีแถน รวมทั้งผีไร่นา นิยมมีศาลตาปู่ประจำหมู่บ้าน มีตำแหน่งเฒ่าจ้ำหรือหมอจ้ำ เป็นผู้ติดต่อกับวิญญาณ ซึ่งจะได้รับความเคารพจากชุมชนอย่างมาก ภาษาที่ใช้ในการพูดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวเป็นภาษาอีสานหรือภาษาลาว ซึ่งส่วนใหญ่คนในภาคอีสานใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน



ประเพณี

   ฮิตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ลาว ซึ่งร่วมถึงชาวลาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ชาวลาวในภาคอีสาน และประเทศลาว ปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณได้วางฮีตสิบสองไว้ดังนี้


เดือน
ประเพณีสำคัญ
เดือนอ้าย
เดือนสิบสอง
เดือนอ้าย
บุญคูนลาน
เดือนสาม
บุญข้าวจี่
เดือนสี่
บุญพระเวส
เดือนสี่
บุญสงกรานต์
เดือนหก
บุญบั้งไฟ
เดือนเจ็ด
บุญซำฮะ
เดือนแปด
บุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า
บุญข้าวประดับดิน
เดือนสิบ
บุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด
บุญออกพรรษา
เดือนสิบสอง
บุญออกพรรษา
   งานบุญประเพณีที่เกี่ยวข้องกับฮีตสิบสองที่สำคัญของชาวอีสาน ได้แก่ บุญเดือนสี่ จังหวัดร้อยเอ็ด (งานประเพณีบุญพระเวส) บุญเดือนหก จังหวัดยโสธร (งานประเพณีบุญบั้งไฟ) บุญเดือนแปด จังหวัดอุบลราชธานี (งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา) บุญเดือนสิบเอ็ด จังหวัดนครพนม (งานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ) และจังหวัดสกลนคร (งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง)

   คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คอง หมายถึง แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ อาจสรุปได้หลายมุมมองดังนี้

  1. เป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้ปกครองบ้านเมือง
  2. เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์
  3. เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชายึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และคนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน
  4. เป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณี

   แต่ละข้อมีคำว่าฮีตนำหน้าด้วย (ทำให้เกิดความสับสนกับฮีตสิบสอง) แต่ละคองจะมีสิบสี่ฮีต ยกเว้น ฮีตปีคลองเดือน จะมีเพียงสิบสองฮีต ซึ่งนั่นก็คือฮีตสิบสองที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น คองประกอบด้วย

  • ฮีตเจ้าคองขุน ฮีตท้าวคองเพีย
  • ฮีตไพร่คองนาย ฮีตบ้านคองเมือง
  • ฮีตปู่คองย่า ฮีตตาคองยาย
  • ฮีตพ่อคองแม่ ฮีตใภ้คองเขย
  • ฮีตป้าคองลุง ฮีตลูกคองหลาน
  • ฮีตเถ้าคองแก่ ฮีตปีคองเดือน (ฮีตสิบสอง)
  • ฮีตไฮ่คองนา ฮีตวัดคองสงฆ์
   ภูมิปัญญาที่โดดเด่น ได้แก่ การปลูกผักและผลไม้นอกฤดูกาล กลุ่มสานตะกร้าขายเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในเขตตำบลบ้านแวง อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์บ้านแวง สาเหตุที่ตั้งหมู่บ้านแวงนั้นเนื่องมาจากว่ามีเนินดินกว้างและมีหนองน้ำขนาดใหญ่ วัชพืชในหนองน้ำส่วนมากคือต้นแวงและนายมีเลยตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของวัชพืชที่อยู่ในหนองว่า บ้านหนองแวง แต่เรื่อยมามาคนมาอาศัยอยู่ตั้งถิ่นฐานมากขึ้นคลองนั้นจึงถูกถมทับไปและสร้างที่อยู่อาศัยชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านเปลื่อนจากบ้านหนองแวง เหลือเพียงแค่บ้านแวง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน