ข้อมูลชาติพันธ์ุท้องถิ่น ชาติพันธุ์ไทยโคราช
ประวัติความเป็นมา
บางครั้งเรียก ไทยเบิ้ง จะอาศัยอยู่ในเขตอำเภอนางรอง หนองกี่ ปะคำ และอำเภอลำปลายมาศ การแต่งกายจะนุ่งโจงกระเบนทั้งชายและหญิง เสื้อคอกลมผ้าขาวม้าพาดบ่าด้านซ้าย หญิงนิยมทัดดอกไม้ที่หู ชาวไทย โคราชเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ว่านอนสอนง่ายเชื่อฟัง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และเชื่อฟังผู้นำ ไม่ประพฤติล่วงเกินคำสั่งสอนของผู้เป็นบุพการีความเชื่อถือ การทำบุญใส่บาตร ส่งผลบุญไปให้บรรพ บุรุษ เป็นประเพณีที่นิยมทำกันในระหว่างเดือน 6 ไม่กำหนดวันที่แน่นอน เป็นการทำบุญประจำหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการส่งผลบุญไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ คือการทำนา ทำไร่ เมื่อถึงฤดูการทำนาคือเดือน 5 ทุกปี จะต้องประกอบพิธีแรกนา (แรกนาขวัญ) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่การประกอบอาชีพ การละเล่นมีเพลงโคราช หรือเรียก เพลงปฏิพากย์ คือการโต้ตอบเพลงกันระหว่างฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เป็นกลอนเนื้อร้องสนุกสนาน ภาษาไทยโคราชเป็นภาษาไทยที่มีสำเนียงเพี้ยนเหน่อ และมีคำศัพท์เฉพาะแต่ก็ไม่มากนัก หรือบางครั้งก็มีคนเรียกภาษาที่ใช้ว่า ลาวโคราช หรือ ภาษาไทยเบิ้ง
ประเพณี
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช ในอำเภอหนองกี่ คนไทโคราช ไม่ใช่ชื่อเรียกชนชาติและเชื้อชาติ ไม่ใช่อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ตายตัว แต่เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ผ่านการกรองและการต่อรองกับอำนาจของรัฐศูนย์กลางของคนกลุ่มวัฒนธรรมไทย จนตกผลึกเป็น “ไทโคราช” นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชุมชนที่อาศัยอยู่บนแอ่งโคราชคือชุมทางของการแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างดินแดนแถบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและฝั่งมหาสมุทรอินเดีย พัฒนาการของชุมชนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์เติมเต็มไปด้วยการพบปะแลกเปลี่ยนเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับผู้คนจากโลกภายนอก ทั้งเขมร ทวารวดี ลาว มอญ จีน และไทย เมื่อรัฐศูนย์กลางสถาปนาราชอาณาจักรได้สำเร็จ เมืองนครราชสีมาคือดินแดนปะชิดระหว่างไทยและลาว สถานะของเมืองหน้าด่านของรัฐศูนย์กลางทั้งอยุธยาและรัตนโกสินทร์ทำให้ความรับรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนเมืองนครราชสีมาขึ้นอยู่กับรัฐศูนย์กลางแต่ละฝ่าย เวียงจันทน์มองว่าคนเมืองนครราชสีมาเป็นไทย แต่กรุงเทพฯ กลับมองว่าเป็นลาว ทั้งที่การได้ผัวได้เมียข้ามชนชาติและความหลากหลายทางชาติพันธุ์คือภาพความจริงในพื้นที่ เมื่อรัฐสมัยใหม่กำเนิดขึ้นและได้กำหนดสถานะของคนชาติไทยบังคับสยาม คนนครราชสีมาส่วนใหญ่ตั้งนามสกุลให้ผูกพันกับถิ่นอาศัย ซึ่งบางชุมชนก็พัฒนาการมาจากชุมชนทางชาติพันธุ์เดิมของตนเอง จนกระทั่งรัฐศูนย์กลางได้หลวมรวมคนเมืองนครราชสีมาเข้ากับความเป็นไทยได้อย่างแนบเนียนโดยผ่านการเมืองในอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารี คนเมืองนครราชสีมาก็ได้สถาปนาสัญลักษณ์ของไทโคราชได้อย่างตกผลึก ทั้งการนิยามตัวตนว่า “หลานย่าโม” หรือแสดงผ่านภาษาโคราช อาหารโคราช การแต่งกาย และการละเล่นต่างๆ ที่มีความคล้ายไปทางวัฒนธรรมไทยภาคกลางมากกว่าวัฒนธรรมลาวในอีสาน
ภูมิปัญญาที่โดดเด่น ของ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช ในอำเภอหนองกี่ มีด้วยกันหลากหลายประเภทแต่ที่เป็นของขึ้นชื่อของอำเภอหนองกี่ ได้แก่ การทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่อยู่ 116 หมู่ 9 ตำบลท่าโพธิ์ชัย อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ไก่ย่างหนองกี่ จุดเด่นคือ เป็นการขายโดยตั้งร้านขายข้างทาง มีหลายร้านเรียงกัน โดยมีไก่ย่างหนองกี่ที่เป็นจุดเด่นของร้าน และมีอาหารอีสานต่าง ๆ เช่น ส้มตำ ลาบ ก้อย ต้มแซ่บ หม่ำ ไส้กรอกอีสาน และ กลุ่มแม่บ้านตะกร้าโครงเหล็ก ที่อยู่ 72 หมู่ 10 ตำบลดอนอะราง อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ การสานตะกร้าโครงเหล็ก โดยใช้เชือกไนล่อน สีต่าง ๆ นำมาขึ้นลายต่าง ๆ เช่น ลายผีเสื้อสะบัดหาง ลายไทยใหญ่ ลายไทยเล็ก โดยตะกร้ามีหลายขนาด ให้เลือกซึ่งเป็นหัตถกรรมที่มีมูลค่าสูงและทำรายได้ให้แก่ชุมชน