ข้อมูลทั่วไปของท้องถิ่น อำเภอปะคำ

ลักษณะที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 12 บ้านน้อยสามัคคี ตำบลหูทำนบ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มีเขตปกครองท้องที่อยู่ 19 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอปะคำ ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอปะคำประมาณ 6 กิโลเมตร
เนื้อที่

   ตำบลหูทำนบมีเนื้อที่ประมาณ 66.95 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 41,843.75 ไร่ ภูมิประเทศ สภาพพื้นที่โดยรวมเป็นที่ราบสูงสลับภูเขา และมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำอาชีพเกษตรกรรมทั้งทางการทำไร่ ทำนา ปศุสัตว์ พื้นที่ส่วนใหญ่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ จรดเทศบาลตำบลปะคำ,องค์การบริหารส่วนตำบลไทยเจริญ และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศใต้  จรดเทศบาลตำบลโนนดินแดงและองค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศตะวันออก จรดองค์การบริหารส่วนตำบลส้มป่อย อำเภอโนนดินแดง และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตะครอง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทิศตะวันตก จรดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว และองค์การบริหารส่วนตำบลโคกมะม่วง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่รับผิดชอบและประชากร แบ่งเขตการปกครองทั้งหมด 19 หมู่บ้าน
ลักษณะภูมิอากาศ

   มีลักษณะภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อนหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเขตภูมิอากาศแบบสวันนา มีลักษณะอากาศที่มีฤดูแล้งสลับฤดูฝนอย่างเด่นชัด ลักษณะอากาศเช่นนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจึงสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฤดูดังนี้

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกันยายน
  • ฤดูหนาว  เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์
ด้านเศรษฐกิจและสังคม

   ประชาการส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรการปศุสัตว์

  • การเกษตร ได้แก่ การปลูกข้าว  การปลูกมันสำปะหลัง  การปลูกอ้อย  การปลูกยางพารา  การปลูกปาล์ม
  • การปศุสัตว์ ได้แก่ มีการเลี้ยงโคนม  โคพันธ์เนื้อ  โคพื้นบ้าน  กระบือ  สุกร  ไก่พันธ์  และเลี้ยงหม่อนไหม
  • การอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงสีข้าว 5 แห่ง ร้านทำขนมจีน 5 แห่ง โรงกลั่นสุรา 1  แห่ง ร้านซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และร้านเคาะพ่นสี  11 แห่ง

   จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานพบว่า ประชากรที่มีอายุ 15 – 60  ปี อยู่ในกำลังแรงงาน ร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับอัตราส่วนกับจังหวัด ร้อยละ 73.99 ซึ่งสูงกว่ามาก แต่ค่าแรงในพื้นที่ต่ำกว่าระดับจังหวัด โดยเฉพาะแรงงานด้านการเกษตร  ประชากรอายุระหว่าง  25 – 50 ปี บางส่วน ไปรับจ้างทำงานนอกพื้นที่  ปัญหาที่พบคือ ประชากรต้องไปทำงานนอกพื้นที่ในเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรม  บริษัท  ห้างร้านใหญ่ ๆ  เพราะในพื้นที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานเยอะ เพราะพื้นที่ส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัย  ปัญหานี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้

ด้านสาธารณะสุข

   ตำบลหูทำนบมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหูทำนบ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโคกไม้แดงหัวกระสัง

ด้านการศึกษา

   สถานการศึกษาในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหูทำนบมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 3 จำนวน 4 แห่ง แยกเป็นโรงเรียนขยายโอกาสการศึกษาจำนวน 3 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 1 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 1 แห่ง  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกรมการศาสนา จำนวน 1 แห่ง สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 1 แห่ง ดังนี้

  1. โรงเรียนบ้านสุขสำราญ
  2. โรงเรียนบ้านโคกไม้แดงหัวกระสัง
  3. โรงเรียนบ้านหูทำนบ
  4. โรงเรียนบ้านหนองต้อ
  5. โรงเรียนปะคำพิทยาคม
  6. ศูนย์พัฒนาเด็กวัดสุกิจธรรมาวาสตำบลหูทำนบ
  7. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านสุขสำราญ
  8. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านโคกไม้แดงหัวกระสัง
  9. ศูนย์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี ปะคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ด้านศาสนา

   ประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหูทำนบส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ  โดยมีวัด 2 แห่งและสำนักสงฆ์ 7 แห่ง รวมทั้งสิ้น  จำนวน 9 แห่ง

ด้านวัฒนธรรม

   องค์การบริหารส่วนตำบลหูทำนบ มีภาษาท้องถิ่นที่หลากหลายใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นภาษาไทยอีสาน  เขมร  ปะปนบางส่วน และภาษาไทยนางรอง แต่ก็มีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เหมือนกับประเพณีท้องถิ่นอื่น ๆ  ดังนี้

  • ประเพณีสงกรานต์ วันที่  12 – 13 เมษายน  ของทุกปี จัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุและจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ
  • ประเพณีเข้าพรรษา  วันเข้าพรรษาทุกปี  จัดกิจกรรมร่วมทำบุญตักบาตร  แห่เทียนเข้าพรรษา
  • ประเพณีลอยกระทง  วันขึ้น 15  ค่ำ เดือน  12 จัดกิจกรรมงานประเพณีลอยกระทง
  • ประพณีบุญบั้งไฟ  เดือน พฤษภาคม  ถึง  มิถุนายน  ของทุกปี  จัดกิจกรรมงานประเพณีบุญบั้งไฟ  โดยจัดให้มีขบวนแห่และแข่งขันการจุดบั้งไฟ
  • ประเพณีแข่งเรือ เดือน เมษายน จัดกิจกรรมแข่งขันเรือพายความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหูทำนบ มีสถานีตำรวจภูธรปะคำ เป็นผู้รับผิดชอบและให้บริการประชาชนในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินครอบคลุมทุกพื้นที่  โดยมีตู้ยามให้บริการประชาชนบริเวณสี่แยกบ้านสุขสำราญ

ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

   แหล่งน้ำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหูทำนบ  มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และทำน้ำประปา ซึ่งเป็นลำน้ำลำห้วย จำนวน 5 สาย ไหลผ่านพื้นที่ตำบล  ได้แก่ ลำพยุง ห้วยซับหวาย ลำมาศน้อย ลำนางรอง ลำปลายมาศ

  • อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  ในเขตพื้นที่ตำบล จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำซับประดู่ อ่างเก็บน้ำซับหวาย และอ่างเก็บน้ำกำนันดำ 
  • บึง หนอง (ขนาดใหญ่) ในเขตพื้นที่ตำบล จำนวน 2 แห่ง  ได้แก่ หนองไม้เสียบ และหนองต้อ
  • แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ได้แก่ ฝาย จำนวน 4 แห่ง  บ่อน้ำตื้น จำนวน 35 แห่ง  บ่อน้ำบาดาล จำนวน 46 แห่ง และสระ จำนวน 20 แห่ง